โควิด-19 : ประยุทธ์ ประกาศเตรียมฉีดวัคซีนให้ได้ 50 ล้านคน สิ้นปีนี้ ขณะ ยอดผู้ติดเชื้อพุ่ง

สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงต่อประชาชน ว่ารัฐบาลมีความพร้อมรับมือการระบาดระลอกใหม่ และจะหาวัคซีนโควิด-19 ให้ครบ 100 ล้านโดสเพื่อฉีดให้กับประชาชน 50 ล้านคนภายในสิ้นปี

"นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้พระราชทาน อุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย รถตรวจวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ รถเอ็กซ์เรย์, รถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉินเครื่องช่วย" นายกรัฐมนตรี กล่าวในตอนต้นของการแถลงเป็นเวลา 9 นาที ทางสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง และสื่อสังคมออนไลน์ของรัฐ เมื่อ 23 เม.ย.

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ยังได้ทรงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหนังสือขอขอบใจ และขอเป็นกำลังใจ รวมทั้งขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนทั้งด้านทรัพยากรและบุคลากร

พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า ประชาชนต้อง "การ์ดไม่ตก" หลังวันนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่า 2,000 ราย โดยรัฐบาลและ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีการประเมินสถานการณ์-อย่างใกล้ชิด อยู่ตลอดเวลา

8.4 แสนคน

นายกรัฐมนตรี บอกว่าถึงตอนนี้ ได้รับมอบวัคซีนมาแล้ว 2.1 ล้านโดส โดยฉีดไปแล้ว 8.4 แสนคน และรัฐบาล และ ศบค. "ไม่ได้นิ่งนอนใจ" ตั้งเป้าว่าจะหาวัคซีนให้ได้ครบ 100 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กับประชาชน 50 ล้านคน ภายในสิ้นปีนี้

พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า ที่ผ่านมาจัดหาวัคซีนได้ 64 ล้านโดส ประกอบด้วยแอสตร้าเซนเนก้า เป็นจำนวน 61 ล้านโดส เริ่มส่งมอบเดือน มิถุนายนนี้ 6 ล้านโดส และเดือนต่อ ๆ ไปอีก เดือนละ 10 ล้านโดส

ขณะที่ได้วัคซีนซิโนแวค เป็นจำนวน 2.5 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 2 ล้านโดส พรุ่งนี้(23 เม.ย.) มาอีก 500,000 โดส

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีบอกว่า "เป็นน่าเรื่องยินดี" ที่รัฐบาลจีนจะบริจาคให้อีก 500,000 โดส โดยไม่ได้บอกว่าเป็นยี่ห้อใด

สำหรับที่จะต้องจัดหาเพิ่มอีก 36 โดส พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่ารัฐบาลเจรจาสำเร็จแล้วจะได้วัคซีนสปุตนิก วี จำนวน 5-10 ล้านโดส และไฟเซอร์ อีก 5-10 ล้านโดส

พร้อมรับมือ

หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีรายงานว่ามีผู้ป่วยรอเตียงกว่า 1,400 ราย พล.อ.ประยุทธ์ ระบุในการแถลงว่า ทางการมีเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยและผู้เสี่ยงติดเชื้อรวมกว่า 28,000 เตียง และหลังจากที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น จำนวนเตียงรองรับก็น้อยลง แต่รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้จัดเตรียมมาตรการที่จะหาเตียงให้กับผู้ป่วยทุกคน

เมื่อกล่าวถึงเรื่องเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีบอกว่า "ขอให้ทุกท่านเชื่อมั่นว่า รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอที่จะใช้ในการช่วยเหลือเยียวยา รวมทั้งการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเจริญเติบโตให้ได้โดยเร็ว"

พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า ได้เตรียมงบประมาณในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจไว้อีกประมาณ 3.8 แสนล้านบาท โดยมาจาก พรก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของเงินกู้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 2.4 แสนล้านบาท งบกลางปีงบประมาณ 2564 อีก 9.9 หมื่นล้านบาท และค่าใช้จ่ายบรรเทาโควิด-19 อีก 4 หมื่นล้านบาท

นอกจากขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการรับมือกับวิกฤตในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีปิดท้ายด้วยการ "ขอให้คำมั่นสัญญาว่า ผมและรัฐบาลจะทำทุกทางเพื่อให้เราผ่านวิกฤตในระลอกนี้ไปให้ได้ พวกเราทุกคนจะสู้ไปด้วยกันอีกครั้ง และผมเชื่อมั่นว่า ด้วยศักยภาพของเราทุกคนประเทศไทยจะต้องเอาชนะโรคร้ายในครั้งนี้ได้อย่างแน่นอน"

"นิวไฮ"

สามครอบครัวผู้ป่วยโควิด-19 กับชีวิตในระหว่าง "รอเตียง"

ที่มาของภาพ, EPA

การแถลงในครั้งนี้เกิดขึ้นในวันที่ไทยทำสถิติใหม่ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยืนยันถึง 2,070 รายภายในวันเดียว ซึ่งถือเป็นตัวเลขสูงสุดนับจากมีการรายงานข้อมูลโดย ศบค. ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมทะลุ 5 หมื่นรายเป็นที่เรียบร้อย นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 4 ราย

จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 หน้าใหม่ ที่ นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ใช้คำว่า "นิวไฮ" อีกครั้งในระหว่างการแถลงข่าวประจำวัน (23 เม.ย.) ทำให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขของไทยต้อง "พยากรณ์การใช้เตียง" และจัดเตรียมแผน "เบ่งเตียง" รองรับผู้ป่วยติดเชื้อที่มีแต่เพิ่มขึ้นทุกวัน

"มีผลกระทบแน่นอน เรายังไม่รู้ว่าจุดที่เป็นปลายทางจะเป็นอย่างไร นี่คือการประเมินสถานการณ์ในภาวะที่มีวิกฤตรุนแรงมาก ๆ ต้องทำอย่างไร" โฆษก ศบค. กล่าว

เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) พบผู้ป่วยหน้าใหม่วันเดียว 740 ราย

ขณะที่เตียงในหอผู้ป่วยวิกฤต (Intensive Care Unit - ICU) ในพื้นที่ กทม. มี 262 เตียง ยังว่างอยู่ 69 เตียง และเตียงในห้องฉุกเฉินแยกโรคติดเชื้อทางอากาศแรงดันลบ (Negative Pressure Room for Emergency Department) มี 479 เตียง ยังว่างอยู่ 69 เตียง

นพ. ทวีศิลป์กล่าวว่า มีการพยากรณ์ว่าถ้ามีผู้ติดเชื้อ 1,500 รายต่อวัน ขณะนี้ทั้งประเทศไทยเหลือเตียงราว 1 พันเตียง ใช้ได้ 52 เตียงต่อวันทั้งประเทศ จึงรองรับได้ 19 วัน ส่วน กทม. ใช้ 10-13 เตียงต่อวัน จำนวนเตียงที่เหลืออยู่จะใช้ได้เต็มที่ในอีก 6-8 วันข้างหน้า

"เตียงไอซียูที่มีอยู่ในขณะนี้ไม่เพียงพอ ต้องเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะใน กทม. เหลือเวลาสั้นมาก" โฆษก ศบค. กล่าว